วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

ภาพภจน์ ( วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556 )


ภาพพจน์
                ภาพพจน์  หมายถึง  คำ  หรือ  กลุ่มคำ  ที่สร้างขึ้นจากกลวิธีในการใช้คำ  เพื่อให้ปรากฏภาพที่เด่นชัดและลึกซึ้งขึ้นในใจทำให้ผู้อ่านและผู้ฟังเกิดจินตภาพคล้อยตาม  การสร้างภาพพจน์เป็นศิลปทางภาษาขั้นสูงของการแต่งคำประพันธ์  โดยผู้แต่งใช้กลวิธีการเปรียบเทียบที่คมคายในลักษณะต่างๆ
ภาพพจน์มีหลายประเภท  แต่ที่สำคัญๆ  คือ
                1. อุปมา  (Simile)
                อุปมา คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งเหมือนอีกสิ่งหนึ่ง  โดยใช้คำเชื่อมเหล่านี้ "เหมือน ราว ราวกับเปรียบ ดุจ ประดุจ ดัง ดั่ง เฉก เช่น เพียง เพี้ยง ประหนึ่ง ถนัด กล เล่ห์ ปิ้มว่า ปาน ครุวนา ปูน พ่าง ละม้าย แม้น"
    ตัวอย่างเช่น
                 ปัญญาประดุจดังอาวุธ
                 ไพเราะกังวานปานเสียงนกร้อง
                 ท่าทางหล่อนราวกับนางพญา
                 จมูกเหมือนลูกชมพู่                        ใบหูเหมือนทอดมันร้อนๆ
                 ปากเธอเหมือนกระจับอ่อนๆ         ฟันเรียงสลอนเหมือนข้าวโพดพันธุ์ดี
                  สูงระหงทรงเพรียวเรียวลูด            งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
               พิศแต่หัวจรดเท้าขาวแต่ตา            สองแก้มกัลยาดังลูกยอ
                 คิ้วก่งดังก่งเขาดีดฝ้าย                 จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
               หูกลวงดวงพักตร์หักงอ                ลำคอโตตันสั้นกลม
                 สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว           โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
                 เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม             มันน่าเชยน่าชมนางเทวี
                                                                                     (ระเด่นลันได : พระมหามาตรี (ทรัพย์))
                2.  อุปลักษณ์  ( Metaphor )
                อุปลักษณ์  ก็คล้ายกับอุปมาโวหารคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน  แต่เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  มักจะมีคำ เป็น  คือ  มี ๓ ลักษณะ
               ๑.   ใช้คำกริยา เป็น  คือ  =   เปรียบเป็น  เช่น  โทสะคือไฟ
                ๒. ใช้คำเปรียบเป็น  เช่น  ไฟโทสะ  ดวงประทีปแห่งโลก   ตกเหวรักจะดิ้นรนไปจนตาย
                ๓.  แสดงการเปรียบเทียบโดยปริยาย  เช่น  มโหรีจากราวป่ามาเรื่อยรี่
ตัวอย่างเช่น      ขอเป็นเกือกทองรองบาทา    ไปจนกว่าชีวันจะบรรลัย
                 ทหารเป็นรั้วของชาติ
                 เธอคือดอกฟ้าแต่ฉันนั้นคือหมาวัด
                 เธอเป็นดินหรือเธอเป็นหญ้าแท้จริงมีค่ากว่าใครนิรันดร์
                 ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
                 ครูคือแม่พิมพ์ของชาติ
                 ชีวิตคือการต่อสู้     ศัตรูคือยากำลัง
บางครั้งภาพพจน์แบบอุปลักษณ์ไม่มีคำกริยา "คือ" และ "เป็น" ให้สังเกต เราจะต้องตีความเอาเอง เช่น
                     ก้มเกล้าเคารพอภิวาท      พระปิ่นภพภูวนาถนาถา
                 ยับยั้งคอยฟังพระวาจา          จะบัญชาให้ยกโยธี             
 (อิเหนา) ในที่นี้ เปรียบพระมหากษัตริย์เป็นปิ่นของแผ่นดิน
                                ตะปูดอกใหญ่ตรึ้ง                               บาทา อยู่เฮยด
                จึงบอาจลีลา                                                    คล่องได้
                เชิญผู้ที่เมตตา                                                  แก่สัตว์ ปวงแฮ
                ชักตะปูนี้ให้                                                    ส่งข้าอัญขยม              
                          (ขัตติยพันธกรณี) ในที่นี้ เปรียบภาระหน้าที่เป็นตะปูที่ตรึงเท้าไว้
         อัจก ลับแก้วในทิพยสถานไกลลิบลิ่ว      ฉายแสงสาดหาดทรายทอสีเงินยวง
         ต้องกรวหินสินแร่บางชนิดแวววาว       งามรังสีแจ่มจันทร์เจ้าวาวระยับ
         ย้อยลงในแควแม่น้ำไหล                ไหวๆ แพรวพราวราวเกล็ดแก้วเงินทอง
                                          (บันทึกของจิตรกร, อังคาร  กัลยาณพงศ์)
             ในที่นี้เปรียบพระจันทร์เป็นอัจกลับแก้ว  หรือโคมไฟที่ส่องสว่างกระจ่างตา
 เดือนตกไปแล้ว   ดาวแข่งแสงขาว  ยิบ ๆ ยับ ๆ เหมือนเกล็ดแก้วอัน สอดสอยร้อยปักอยู่เต็มผ้าดำผืนใหญ่  วูบวาบวิบวับ ส่องแสง  ใหญ่แลน้อย ใกล้แลไกล...
        (เจ้า จันท์ผมหอม นิราศพระธาติอินทร์แขวน, มาลา คำจันทร์)ในที่นี้ เปรียบ ท้องฟ้าอันมืดมิดเป็นผ้าดำผืนใหญ่
                3.  สัญลักษณ์  ( symbol )
                สัญลักษณ์ เป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน  ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความ  ซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไป   ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ประพันธ์ต้องการเปรียบเทียบเพื่อสร้างภาพพจน์หรือมิฉะนั้นก็อาจจะอยู่ในภาวะที่กล่าวโดยตรงไม่ได้  เพราะไม่สมควรจึงต้องใช้สัญลักษณ์แทน
        ตัวอย่างเช่น                   
         เมฆหมอก                แทน       อุปสรรค                     
         สีดำ                      แทน       ความตาย  ความชั่วร้าย
         สีขาว                     แทน       ความบริสุทธิ์
       กุหลาบแดง                แทน       ความรัก
        หงส์                        แทน       คนชั้นสูง
        กา                            แทน       คนต่ำต้อย
        ดอกไม้                     แทน       ผู้หญิง
           แสงสว่าง              แทน       สติปัญญา
            เพชร                        แทน       ความแข็งแกร่ง     ความเป็นเลิศ
             แก้ว                                    แทน       ความดีงาม   ของมีค่า    
                ลา                            แทน       คนโง่   คนน่าสงสาร
               สุนัขจิ้งจอก            แทน       คนเจ้าเล่ห์
               ยักษ์                         แทน       อธรรม
               อันของสูงแม้ปองต้องจิต             ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ
               ไม่ใช่ของตลาดที่อาจซื้อ               ฤๅแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม
               ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง           คงชวดดวงบุปผชาติสะอาดหอม
               ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินตอม              จึ่งได้ดอมดมกลิ่นสุมาลี
                          (ท้าวแสนปม : พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว)
                4. นามนัย (Metonymy)
                นามนัย  คือ  การใช้คำหรือวลีซึ่งบ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง  คล้ายๆ สัญลักษณ์     แต่ต่างกันตรงที่  นามนัยนั้นจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าวให้หมายถึงส่วนทั้งหมด  หรือใช้ชื่อส่วนประกอบสำคัญของสิ่งนั้นแทนสิ่งนั้นทั้งหมด
เลือดสุพรรณวันก่อนเคยร้อนรุ่ม               หลั่งลงรุ่มฉาบดินทุกถิ่นฐาน
บัดนี้เย็นเป็นสุขทุกประการ                    เพราะไทยหาญหวงถิ่นไว้ให้ไทยเอย
                                (เลือดสุพรรณ : ประสิทธิ์  โรหิตเสถียร)
       คำว่าไทย ในบทกลอนข้างต้น หมายถึง เฉพาะชาวไทย มิได้หมายถึงประเทศไทยหรือเชื้อชาติหรือสัญชาติแต่อย่างใด จึงเรียก อธินามนัย ส่วน ไทย  คำหลังหมายถึงประเทศไทย
ตัวอย่างเช่น                 
   เมืองโอ่ง               หมายถึง         จังหวัดราชบุรี
  เมืองย่าโม              หมายถึง         จังหวัดนครราชสีมา
  ทีมเสือเหลือง         หมายถึง         ทีมมาเลเซีย
  ทีมกังหันลม           หมายถึง         ทีมเนเธอร์แลนด์
  ทีมสิงโตคำราม       หมายถึง         อังกฤษ
  ฉัตร  มงกุฎ             หมายถึง         กษัตริย์
  เก้าอี้                        หมายถึง         ตำแหน่ง  หน้าที่
  มือที่สาม                  หมายถึง         ผู้ก่อความเดือดร้อน
  เอวบาง                     หมายถึง         นาง  ผู้หญิง
                5.  อธิพจน์ , อติพจน์  ( Hyperbole )
                อติพจน์ คือ การ เปรียบเทียบโดยการกล่าวข้อความที่เกินจริง มักเปรียบเทียบในเรื่องปริมาณว่ามีมากเหลือเกิน มีเจตนาเน้นข้อความที่กล่าวนั้นให้มีน้ำหนัก
ตัวอย่างเช่น  
คิดถึงใจจะขาด
คอแห้งเป็นผง
ร้อนตับจะแตก
หนาวกระดูกจะหลุด
การบินไทยรักคุณเท่าฟ้า
คิดถึงเธอทุกลมหายใจเข้าออก
ใจดีเป็นบ้า
เหนื่อยสายตัวแทบขาด
                นี่ฤาบุตรีพระดาบส                            งามหมดหาใครจะเปรียบได้
      อนิจจาบิดาท่านแสร้งใช้                          มารดต้นไม้พรวนดิน
      ดูผิวสินวลละอองอ่อน                                            มะลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น
      สองเนตรงามกว่ามฤคิน                         นางนี้เป็นปิ่นโลกา
                                                                                (ศกุนตลา)
เอียงอกเทออกอ้าง                           อวดองค์  อรเอย
เมรุชุบสมุทรดินลง            เลขแต้ม
อากาศจักจารผจง             จารึก พอฤา
โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม           อยู่ร้อนฤาเห็น
*ในกรณีที่ใช้โวหารต่ำกว่าจริงเรียกว่า  "อวพจน์"
ตัวอย่างเช่น                   
                เล็กเท่าขี้ตาแมว
              เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว
               รอสักอึดใจเดียว
6.  บุคลาธิษฐาน   (  Personification )
                บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต  บุคคลสมมติ  คือการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด   ไม่มีวิญญาณ  เช่น   โต๊ะ  เก้าอี้    อิฐ  ปูน    หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์  เช่น ต้นไม้  สัตว์  โดยให้สิ่งต่างๆเหล่านี้  แสดงกิริยาอาการและความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์  ให้มีคุณลักษณะต่างๆ เหมือนสิ่งมีชีวิต  
( บุคลาธิษฐาน  มาจากคำว่า  บุคคล  +  อธิษฐานหมายถึง   อธิษฐานให้กลายเป็นบุคคล )
ตัวอย่างเช่น                        มองซิ..มองทะเล               เห็นลมคลื่นเห่จูบหิน
                           บางครั้งมันบ้าบิ่น                                             กระแทกหินดังครืนครืน
                           ทะเลไม่เคยหลับไหล                      ใครตอบได้ไหมไฉนจึงตื่น
                           บางครั้งยังสะอื้น                            ทะเลมันตื่นอยู่ร่ำไป
                                ฟ้าหัวเราะเยาะข้าชะตาหรือ          ดินนั้นถืออภิสิทธิ์ชีวิตข้าเองไม่เกรงดินฟ้า
                                ไส้เดือนเที่ยวเกี้ยวสาว                   ชาวอัปสรนอนชั้นฟ้า
                                ทุกจุลินทรีย์อะมีบา                       เชิดหน้าได้ดิบได้
                                เสียงร้องไห้ร่ำหาเหมือนฟ้าร้อง       พระเสื้อเมืองเมินมองแล้วร้องไห้
                                พระธรณีตีอกด้วยตกใจ                   โลกบาลถอนฤทัยไม่อาจมอง
                7. อรรถวิภาษ ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์  (Paradox)
                ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์  คือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกันมากล่าว  อย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
                               เปลวควันเทียนริบหรี่กลับมีแสง              เกิดจากแรงตั้งจิตอธิษฐาน
             ดวงตาจึงมองเห็นธรรมสืบตำนาน                         ดวงใจจึงเบิกบานแต่นั้นมา
                                     (แสงเทียนแสงธรรม : เสมอ  กลิ่นประทุม)

         ริบหรี่ กับ แสง มีความหมายตรงข้ามกันสิ้นเชิง ครั้นเมื่ออยู่ในประโยคเดียวกันก็มีเนื้อความเรื่องเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น                  
                 เลวบริสุทธิ์                       บาปบริสุทธิ์
                สวยเป็นบ้า                        สวยอย่างร้ายกาจ
             สนุกฉิบหาย                     สวรรค์บนดิน
              ยิ่งรีบยิ่งช้า                        น้ำร้อนปลาเป็น               
                น้ำเย็นปลาตาย                  เสียน้อยเสียยาก               
                เสียมากเสียง่าย              รักยาวให้บั่น                    
                รักสั้นให้ต่อ                 แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร
                8. วิภาษ หรือปฏิพจน์ (Oxymoron)
                วิภาษ คือ  การเปรียบเทียบความขัดแย้ง หรือสิ่งที่ตรงข้ามกันนำมาจับเข้าคู่กัน เช่น กากับหงส์ ดินกับฟ้า มืดกับสว่าง ดังตัวอย่างเช่น
        
                ความมือแผ่รอบกว้างสว่างหลบ           รอบใจพลบแพ้พ่ายสลายขวัญ
         ชวนกำสรดซบหน้าซ่อนจาบัลย์               วะหวิวหวั่นหวาดหวังว่ายังคอย
                                                                                                                      (มือกับสว่าง : อรฉัตร ซองทอง)
                9. คำถามเชิงวาทศิลป์ (rhetorical question)
                คำถามเชิงวาทศิลป์ คือ  การตั้งคำถามแต่มิได้หวังคำตอบ หรือถ้ามีคำตอบก็เป็นคำตอบ
ที่ผู้ถามและผู้ตอบรู้ดีอยู่แล้ว นักเขียนจะใช้คำถามเชิงวาทศิลป์เพื่อเร้าอารมณ์ผู้อ่าน หรือ
สื่อความหมายและข้อคิดที่ต้องการ
ตัวอย่างเช่น
               เราจะยอมให้มีการทุจริตต่อไปอีกหรือ
                ถ้าเหตุการณ์ภายหน้ามีแต่ร้ายฉันจะทนทรมานอยู่ได้อย่างไร
                เห็นแก้วแวววับที่จับจิต      ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้เต็มที่
                เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี               อันมณีหรือจะโลดไปถึงมือ



                10. สัทพจน์ , การเลียนเสียงธรรมชาติ ( Onematoboeia )
                สัทพจน์  หมายถึง  ภาพพจน์ที่เลียนเสียงธรรมชาติ   เช่น   เสียงดนตรี   
 เสียงสัตว์   เสียงคลื่น    เสียงลม   เสียงฝนตก  เสียงน้ำไหล   ฯลฯ   การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริง ๆ
ตัวอย่างเช่น                
                ลูกหมาร้องบ๊อก ๆ ๆ     ลุกนกร้องจิ๊บๆๆ    ลูกแมวร้องเหมียว ๆ ๆ
                เปรี้ยง ๆ  ดังเสียงฟ้าฟาด
                ตะแลกแต๊กแต๊กตะแลกแต๊กแต๊ก      กระเดื่องดังแทรกสำรวลสรวลสันต์
             คลื่นซัดครืนครืนซ่าที่ผาแดง          
                น้ำพุพุ่งซ่า  ไหลมาฉาดฉาน           เห็นตระการ     เสียงกังวาน
             มันดังจอกโครม จอกโครม             มันดังจอก  จอก  โครม  โครม
                บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว
              อ้อยอี๋เอียง  อ้อยอี๋เอียงส่งเสียงร้อง
                เสียงลิงค่างบ่างชะนีวะหวีดโหวย     กระหึมโหยห้อยไม้น่าใจหาย
                ป๊ะโท่นป๊ะโท่นป๊ะโท่นโท่น
                เสียงโหม่ง หม่อง ฆ้องตีเคล้าปี่พาทย์ เสียงเตรง เตร่ง ระนาดชัดจังหวะ
                 เสียงตะโพน เท่งติง ติง เท่งป๊ะ  เสียงกลองแขก โจ๊ะ จ๊ะ โจ๊ะ โจ๊ะ
                              ( มโหรีชีวิต : แก้วตา  ชัยกิตติภรณ์ )
                11. สัมพจนัย ( Synecdoche )
                สัมพจนัย คือ การกล่าวถึงส่วนย่อยของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ต้องการให้มีความหมายถึง
ส่วนเต็มหรือทั้งหมด เช่น
                เขากินหมาก         หมายถึง                เขากินหมากซึ่งมีพลู ปูน และส่วนผสมอื่นๆ
                                                                             รวมอยู่ด้วย ไม่ใช่กินเพียงหมาก
                 ในหมู่บ้านนี้ทุกหลังคาเรือนมีแต่คนแก่
                หลังคาเรือน         หมายถึง                                บ้านทั้งหลัง มิใช่แต่หลังคาบ้าน
                12. การกล่าวอ้างถึง  (Allusion)
                การกล่าวอ้างถึง คือ การกล่าวถึงหรือการเกล่าเท้าความ คือ การกล่าวอ้างอิงถึงบุคคล
สถานที่ เหตุการณ์ในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ หรือการกล่าวอ้างข้อความตอนหนึ่งตอนใดจาก
วรรณคดีเรื่องนั้นๆ ทั้งโดยตรงและดัดแปลงมา เช่น
ถ้าผมเป็นทศพักตร์จะลักพานุช  ถ้าเป็นครุฑจะอุ้มคุณไป  ผมเป็นแค่คนเดินดิน
ได้แต่ถวิลในใจ คอยเมื่อไหร่คุณจะเมตตา
(ที่มา : เพลง เทพธิดาหลงฟ้า ประพันธ์โดยไพบูลย์ บุตรขัน อ้างถึงวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
และนางกากี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น