ความรู้เกี่ยวกับสำนวนสุภาษิตไทย
สำนวน
คือ 1“โวหาร ถ้อยคำที่เป็นข้อความพิเศษ คือ
มีขั้นเชิงของความหมายให้ขบคิด”
สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่มิได้มีความหมายตรงไปตรงมาตามตัวอักษร
หรือแปลตามรากศัพท์ แต่เป็นถ้อยคำที่มีความหมาย เป็นอย่างอื่น คือ
เป็นชั้นเชิงชวนให้คิด ซึ่งอาจเป็นไปในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา
วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม และอื่นๆ
ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยอย่างเด่นชัด
สำนวน
หมายถึง
ถ้อยคำในภาษาไทยที่ใช้ในการพูดจาสื่อสารกัน โดยมีความหมายเป็นนัย
ไม่แปลความหมายของคำตรงตัว มักจะแปลความหมายในเชิงอุปมาเปรียบเทียบ
สำนวน
คือ หมู่คำที่ไพเราะคมคาย เป็นคำพูดสั้น ๆ
แต่มีความหมายกว้างขวางลึกซึ้งชวนให้คิด เป็นถ้อยคำที่เรียบเรียง,โวหาร,บางที่ใช้คำว่าสำนวนโวหาร, เป็นถ้อยคำที่ไม่ถูกไวยากรณ์แต่ใช้เป็นภาษาที่ถูกต้อง
การแสดงถ้อยคำออกมาจะเป็นข้อความพิเศษเฉพาะของแต่ละภาษา แต่ทุกถ้อยคำก็ไพเราะ
สาเหตุที่เกิดสำนวน
1.ต้องการคำเพื่อสื่อสารความรู้สึกให้เข้าใจ
เมื่อเกิดความต้องการคำให้เพียงพอกับความรู้สึก จึงต้องคิดคำใหม่อาจอิงคำเดิม
แต่เปลี่ยนความหมายไปบ้าง หรือคล้าย ความหมายเดิม
2. หลีกเลี่ยงการใช้คำบางคำ
ซึ่งถ้าใช้แล้วอาจหยาบคาย หรือก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ตัวอย่าง คำว่า ตาย
อาจมีหลายสำนวน เช่น ซี้ม่องเท่ง เสร็จ เสียชีวิต ถึงแก่กรรม ไปค้าถ่าน ไปนรก หรือ
ถ่ายปัสสาวะ อาจใช้ เบา ไปยิงกระต่าย ไปเก็บดอกไม้
3. เพื่อให้สุภาพ
หรือเหมาะสมกับฐานะของบุคคล เช่น ตัดผม ทรงเครื่อง หรือทรงพระเครื่องใหญ่
4. ต้องการให้คำพูดมีรสชาติ หรือ
เกิดภาพ ตัวอย่างเช่น กุ้งแห้งเดินมาแล้ว (อาจหมายถึงคนผอมแห้ง)
ความเป็นมาของสำนวนไทย
สำนวนไทยนั้นมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง เนื่องจากในศิลาจารึกของพ่อขุนรามนั้น
มีสำนวนไทยปรากฏเป็นหลักฐานอยู่เช่น เหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อดำ หมายถึง
ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น การที่มีในภาษาเขียนครั้งแรกมีสำนวนไทยปรากฏอยู่นั้น
แสดงให้เห็นว่าสำนวนไทยมีมาก่อนภาษาเขียนและมีการใช้ในภาษาพูดอยู่ก่อนแล้ว
หนังสือสุภาษิตพระร่วงก็มีเนื้อหาเป็นสำนวนไทยที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันมากมาย เช่น
เมื่อน้อยให้เรียนวิชา ให้หาสินเมื่อใหญ่
หนังสือกฎมณเฑียรบาลของเก่า
ก็มีสำนวนไทยปรากฏอยู่
นอกจากนี้ในวรรณคดีไทยต่างๆ
ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาก็มีสำนวนไทยปรากฏอยู่มากมาย เช่น ขุนช้างขุนแผน
ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ และราชาธิราชเป็นต้น
สำนวนเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของภาษาไทย
เพราะเป็นคำพูดที่กลั่นกรองขึ้น
เพื่อความสละสลวยของภาษาเป็นถ้อยคำที่คมคายกว่าคำพูดธรรมดา
เป็นคำพูดที่รวมใจความยาวๆให้สั้นลงได้ ก็จะทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจง่าย ๆ
ลักษณะของสำนวนไทย
ลักษณะของสำนวนไทยนั้น
มีทั้งประเภทเสียงสัมผัสคล้องจองกัน และ แบบไม่มีเสียงสัมผัส
1 . ประเภทมีเสียงสัมผัส
∗ ๔ คำสัมผัส
∗ ๖- ๗ คำสัมผัส
∗ ๘- ๙ คำสัมผัส
2. ประเภทไม่มีเสียงสัมผัส
∗ ๒ คำเรียงกัน ∗ ๓ คำเรียงกัน
∗ ๔ คำเรียงกัน ∗ ๕ คำเรียงกัน
∗ ๖- ๗ คำเรียงกัน
ตัวอย่างสำนวนคล้องจองสั้น ๆ
∗ กรวดน้ำ คว่ำกะลา ∗ นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น
∗ น้ำสั่งฟ้า ปลาสั่งฝน,สั่งหนอง
∗ กระต่าย ขาเดียว
∗ กระต่าย หมายจันทร์ ∗ บ้านนอก คอกนา
∗ บุญทำ กรรมแต่ง ∗ ก่อกรรม ทำเข็ญ
∗ บุญพา วาสนาส่ง ∗ ก่อร่าง สร้างตัว
∗ เบี้ยบ้าย รายทาง ∗ ข้าเก่า เต่าเลี้ยง
∗ ตื่นแต่ดึก สึกแต่หนุ่ม ∗ ท้องยุ้ง พุงกระสอบ
∗ ตาบอด สอดตาเห็น ∗ เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่
∗ พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก ∗ คดในข้อ งอในกระดูก
คุณค่าของสำนวน
1.
เป็นเครื่องอบรมสั่งสอนและชี้แนะให้เป็นคนดี
-
ในด้านความรัก :
คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย, น้ำพึ่งเสือพึ่งป่า
-
ในด้านการศึกษาอบรม
: ฝนทั่งให้เป็นเข็ม, สิบรู้ไม่เท่าชำนาญ
-
ในการพูดจา :
พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย ,พูดไปสองไพเบี้ย
นิ่งเสียตำลึงทอง
2. สำนวนไทยช่วยสะท้อนให้เห็นความคิด
ความเชื่อในสังคมไทย
-
ความเคารพนอบน้อมผู้ใหญ่
เช่น เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด
-
ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องกรรม
เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
-
ความเชื่อเกี่ยวกับการปกครอง
เช่น บ้านเมืองมีขื่อมีแป
-
ความเชื่อเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียง
เช่น ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ
3. สะท้อนให้เห็นถึงภาวะความเป็นอยู่
-
เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการครองชีพ
เช่น เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
-
เกี่ยวกับการทำมาหากิน
เช่น น้ำขึ้นให้รีบตัก
4.ชี้ให้เห็นว่าคนไทยรักธรรมชาติ
ธรรมชาติกับการดำรงชีวิตของคนไทยเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก
จึงได้นำเอาลักษณะธรรมชาติของสัตว์ ต้นไม้ ฯลฯ มาตั้งเป็นสุภาษิต คำพังเพย
และสำนวนต่างๆ
5.ใช้ภาษาได้ถูกต้อง
การศึกษาสำนวนต่างๆ
ช่วยทำให้เราใช้ภาษาได้ถูกต้องและสละสลวย ไม่ต้องใช้คำพูดที่เยิ่นเย้อยืดยาว
แต่สามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่านได้มาก นอกจากนั้นการศึกษาสุภาษิต คำพังเพย
และสำนวนของภาคต่างๆ ทำให้เราได้เรียนรู้ภาษาถิ่นไปด้วยในตัว
6. ช่วยสืบทอดวัฒนธรรม
การเรียนรู้เรื่องสุภาษิต คำพังเพย
และสำนวนต่างๆ เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมของชาติเอาไว้มิให้สูญหาย
และเกิดความภูมิใจที่บรรพชน
มูลเหตุที่ทำให้เกิดสำนวนไทย
1. เกิดจากธรรมชาติ
2. เกิดจากการกระทำ
3. เกิดจากอุบัติเหตุ
4. เกิดจากแบบแผนประเพณี
5. เกิดจากความประพฤติ
6. เกิดจากการละเล่น
สำนวนไทยที่เกิดจากธรรมชาติ
1. กาฝาก
ความหมาย กินอยู่กับผู้อื่นโดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้
ความเป็นมา กาฝากเป็นต้นไม้เล็กๆ เกิดเกาะอยู่กับต้นไม้ใหญ่ และอาศัยอาหาร
ในต้นไม้ใหญ่เลี้ยงตัวเอง
ตัวอย่าง ต้นไม้ที่มีกาฝากอยู่ ก็ต้องลดอาหารที่ได้สำหรับเลี้ยงตนไปเลี้ยงกาฝาก
ประเทศก็เหมือนกัน มีภาวะการหาประโยชน์ได้มาก
ก็ต้องเสียกำลังและทรัพย์ไปในทางนั้นมาก มาจาก
คนที่แอบแฝงเกาะกินผู้อื่นอยู่โดนไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้เขา จึงเรียกว่ากาฝาก
เช่น ถึงเป็นอนุชาก็กาฝาก ไม่เหมือนฝากสิ่งที่ว่าอย่าเย้ยหยัน
2. กินน้ำไม่เผื่อแล้ง
ความหมาย มีอะไรเท่าไร่ใช้หมดในทันที
ความเป็นมา 2“มาจากการอัตคัดน้ำ ตามธรรมดา หน้าเล้ง น้ำในคลองในบ่อบ่อลดน้อยลงหรือแห้งขอด
ฝนก็ไม่ตกให้รองไว้กินได้ เมื่อมีน้ำอยู่เช่นมีในตุ่มในโอ่งก็ไม่ถนอมไว้ใช้ไว้กิน
เอามาใช้เสียหมดก่อนจะถึงหน้าแล้ง ไม่เผื่อหน้าแล้งที่หาน้ำใช้ยาก
ก็จะต้องได้รับความลำบาก อะไรที่ใช้เสียหมดสิ้นไม่เผื่อกาลข้างหน้าจึงพูดกันเป็นสำนวนว่า
กินน้ำไม่เผื่อแล้ง”
3. ขาวเป็นสำสีเม็ดใน
ความหมาย คนที่มีผิวสีดำ
ความเป็นมา สำสีขาว แต่เม็ดในดำ ขาวเป็นสำลีเม็ดใน เป็นสำนวนที่ล้อคนผิดดำ คือ
คนที่มีผิวขาวนั้นเปรียบได้กับสำลี
ส่วนคนที่ผิดดำก็เป็นสำสีเหมือนกันแต่เป็นเม็ดใน
ตัวอย่าง สมศักดิ์คุณเป็นคนที่มีผิวขาวกว่าสมศรีอีก แต่ขาวเป็นสำลีเม็ดใน
4. น้ำขึ้นปลากินมด
น้ำลดมดกินปลา
ความหมาย ยามชะตาขึ้นทำอะไรไม่ดีกับใครไว้ ยามชะตาตกเขาทำกับเราไม่ดีเหมือนกัน
ความเป็นมา เปรียบได้กับเวลาน้ำขึ้นปลาก็ว่ายร่าเริง
แต่พอน้ำลดแห้งปลาขาดน้ำก็ต้องตาย มดก็กลับมาตอมกินปลา
5. เต่าใหญ่ไข่กลบ
ความหมาย ทำอะไรที่เป็นพิรุธแล้วพยายามกลบเคลื่อนไม่ให้คนอื่นรู้
ความเป็นมา สำนวนนี้เอาแต่มาเปรียบ คือเต่าใหญ่ เช่น
เต่าตัวที่อยู่ในทะเลเวลาจะไข่ก็คลานขึ้นมาที่หาดทราย คุ้ยทรายให้เป็นหลุมแล้วไข่
ไข่สุดแล้วมักเขี่ยทรายกลบไข่ แล้วเอาอกของมันถูไถทราย
ปราบให้เรียบเหมือนทรายเดิมเป็นการป้องกัน ไม่ให้ใครไปทำอันตรายไข่ของมัน
ตัวอย่าง
“ถ้าใจดีจริงไม่ชิงผัว ก็จะทูลบิดผันไม่พันพัว
นี่ออกสั่นรัวรีบรับเอา เต่าใหญ่ไข่กลบแม่เจ้าเอ๋ย
ใครเลยเขาจะไม่รู้เท่า เขาว่าถูกใจดำทำหน้าเง้า”
บทละครรามเกียรติ์ของกรมพระราชวังบวร
6. มือเป็นฝักถั่ว
ความหมาย แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยการไหว้
ความเป็นมา ฝักถั่วมีลักษณะอ่อนช้อยโน้มน้อมลงมา ดังนั้นโบราณเอาฝักถั่วมาเปรียบกับการไหว้
โดยใช้มือยกขึ้นไหว้เป็นการแสดงความอ่อนน้อม
ตัวอย่าง ในตำนานเมืองเพชรบุรีของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ)
กล่าวถึงสามเณรแตงโม (คือ สมเด็จพระเจ้าแตงโม) ตอนหนึ่งว่า
“ พอสามเณรขึ้นเทศน์ตั้งนโมแล้ว
เดินบทจุสนีย์เริ่มทำนองธรรมวัตรสำแดงไปพวกทายก ทั้งข้างหน้าข้างในฟังเพราะจับใจ
กระแสแจ่มใสเมื่อเอ่ยถึงพระพุทธคุณมีภควา หรือพระอะระหัง เป็นอาทิครั้งใด
เสียงสาธุการพนมมือแลเป็นฝักถั่วไปทั้งโรงธรรม”
6“โบราณเอาฝักถั่วมาเปรียบกับมือที่ยกขึ้นไหว้เมื่อพูดว่า
มือเป็นฝักถั่วก็หมายถึงมือที่อ่อนน้อม”
สำนวนไทยที่เกิดจากการกระทำ
1. ไกลปืนเที่ยง
ความหมาย ไม่รู้เรื่องอะไรเลย
ความเป็นมา 7“สมัยโบราณเราใช้กลองและฆ้องตีบอกเวลาทุ่มโมง กลางวันใช้ฆ้อง
จึงเรียกว่า”โมง” ตามเสียงฆ้อง กลางคืนใช้กลองจึงเรียก “ทุ่ม” ตามเสียงกลอง ตามพระนครมีหอกลองตั้งกลางเมือง สำหรับตีบอกเวลา
มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ถึงรัชกาลที่5 ปี พ.ศ. 2430
มีการยิงปืนใหญ่ตอนกลางวันบอกเวลาเที่ยง ปืนเที่ยงนี้ยิงในพระนคร
จึงได้ยิงกันแต่ประชาชนที่อยู่ในพระนครในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ตั้งปืน
ถ้าห่างออกไปมากก็จะไม่ได้ยิน ดังนั้นเกิดคำว่า ไกลปืนเที่ยง
ซึ่งหมายความว่าอยู่ไกลปืนเที่ยง
เป็นสำนวนใช้หมายความว่าไม่รู้ไม่ทราบเรื่องอะไรที่คนอื่นในพระนครเขารู้กัน
เลยใช้ตลอดไปถึงว่าเป็นคนบ้านนอกคอกนา งุ่มง่าม ไม่ทันสมัยเหมือนชาวพระนคร”
2. โค่นกล้วยอย่าไว้หน่อ
ความหมาย สำนวนนี้มีต่อไปอีกว่า “ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก”
หมายความว่า ถ้าเอาหน่อไว้หน่อก็เจริญเติบโตขึ้นอีก
ใช้ตลอดถึงการทำลายล้างคนพาลสันดานโกงต่าง ๆ
“วัน ๒ฯ๓๑๐
ค่ำ เจ้าพระยาอภัยภูธรจับเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตราที่วารสองสองชั้น ณ ๔ฯ๕๑๐
สำเร็จการโทษตัดไม้ไม่ไว้หน่อ ฆ่าพ่อไม่เลี้ยงลูก สำเร็จโทษเสียด้วยกัน ณ
วัดประทุมคงคา”
จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทราเทวี
“การโค่นกล้วยอย่าไว้ หน่อแนม
มักจะเลือกแทรกแซม สืบเหง้า
โค้นพาลพวกโกงแกม กุดโคตร มันแฮ
จึ่งจักศูนย์เสื่อมเค้า เงื่อนเสี้ยนศัตรู”
โครงสุภาษิต
3. บัวไม่ช้ำ
น้ำไม่ขุ่น
ความหมาย ทำอะไรให้ค่อย ๆ ทำอย่าให้เป็นการรุ่นแรงกระเทือนใจถึงขุ่นหมองกัน
ตัวอย่าง
“จับปลาให้กุมหัว
เปลื้องใบบัวอย่าให้หนอง บัวมิให้ช้ำ น้ำบ่เป็นตม”
4. พุ่งหอกเข้ารก
ความหมาย ทำอะไรชุ่ย ทำพอให้พ้นตัวไป ไม่คิดผลว่าจะเป็นอย่างไร
สำนวนนี้ใช้กับคำพูดก็ได้ คือพูดชุ่ยส่งไปกระนั้นเอง
ความเป็นมา มีนิทานเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า มีพรานคนหนึ่งถือหอกเดินไปตามทางในป่า
พระสงฆ์รูปหนึ่งเดินส่วนทางมาเห็นพรานถือหอกเดินมาก็กลัวจึงหลบเข้าไปในพุ่มไม้
แล้วซุ่มเดินเล็ดลอดต่อมา เพื่อจะพรางพราน
ฝ่ายนายพรานเห็นพระหลบก็เข้าใจว่าพระกลัวที่ตนถือหอก ก็พุ่งหอกเข้าไปเสียในรก
บังเอิญหอกไปถูกพระตาย นิทานนี้ว่าเป็นมูลที่มาของสำนวน “พุ่งหอกเข้ารก”
ตัวอย่าง
“พุ่งหอกเข้ารกแล้ว หลีกหนี้
ใจด่วนควรการดี บ่ได้
ผิดถูกไม่ทราบมี จิตต์มัก ง่ายนา
เอาแต่เสร็จการไซ้ ชุ่ยพ้นมือตน”
โครงสุภาษิตเก่า
สำนวนที่เกิดจากอุบัติเหตุ
1. ดูตาม้าตาเรือ
ความหมาย พูดหรือทำอะไรก็ตาม ให้ระมัดระวังพินิจพิเคราะห์
ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า ข้างหลังบ้าง ไม่ให้ซุ่มซ่าม
ความเป็นมา มาจากการเล่นหมากรุก ซึ่งมีตัวหมากเรียกว่า “ม้า” และ “เรือ”
ม้าเดินตามเฉียงทแยงซึ่งทำให้สังเกตยาก ส่วนเรือเดินตายาวไปได้สุดกระดานเวลาเดินหมากอาจจะเผลอ
ไม่ทันสังเกตตาที่ม้าอีกฝ่ายหนึ่งเดิน หรือไม่ทันเห็นเรืออีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ไกล
เดินหมากไปถูกตาที่ม้าหรือเรือฝ่ายตรงข้ามสกัดอยู่
ก็ต้องเสียตัวหมากของตนไปให้คู่แข่ง การดูหมากต้อง “ดูตาม้าตาเรือ”
ของฝ่ายตรงข้าม เลยนำสำนวนนี้มาพูดกันเมื่อเวลาจะพูดหรือทำอะไรก็ตาม
ให้ระมัดระวังพินิจพิเคราะห์ ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า ข้างหลังบ้าง ไม่ให้ซุ่มซ่าม
2. ตกกระไดพลอยโจน
ความหมาย พลอยประสมทำไปในเรื่องที่ผู้อื่นเป็นต้นเหตุก็ได้
หรือเป็นเรื่องของตนเอง ไม่เกี่ยวกับผู้อื่นก็ได้
ความเป็นมา เมื่อเห็นว่าจำเป็นต้องทำตามไป สำนวนนี้มีความหมายเป็นสองทาง
ทางหนึ่งผู้หนึ่งผู้อื่นเป็นไปก่อนแล้วตัวเองพลอยตามเทียบตามคำในสำนวนก็คือว่า
เห็นคนอื่นตกกระไดตนเองก็พลอยโจนตาม อีกทางหนึ่งไม่เกี่ยวกับคนอื่น
ตนเองรู้สึกตนว่าถึงเวลาที่ตนเองจะต้องทำโดยที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
ก็เลยประสมทำไปเสียเลย เทียบกับคำในสำนวนเทียบกับว่าตนเองตกกระไดแต่ยังมีสติอยู่
ก็รีบโจนไปให้มีท่าทางไม่ปล่อยให้ตกไปอย่างไม่มีท่า
ตัวอย่าง ในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนปลายงามเข้าหาศรีมาลา มีกลอนขุนแผนว่า
“งองามก็หลงงงงวย ไม่ช่วยไปข้างหน้าจะว้าวุ่น
ตกกระไดพลอยโผนโจนตามบุญ
ทำเป็นหุนหันโกรธเข้าพลอยงาม”
3. เผลอเรอกระเชอก้นรั่ว
ความหมาย เลินเล่อ ไม่เอาใจใส่ระวังดูแลให้รอบคอบ
ความเป็นมา มูลของสำนวนมาจากนิทานโบราณ ใน นนทุกปกรณัม
เรื่องมีว่ามีพรานไปซุ่มช้อนปลากับภรรยา
ภรรยานั้นเป็นกาลกิณีกระเดียดกระเชอก้นรั่วตามสามี สามีช้อนได้ปลามาใส่กระเชอ
ภรรยาก็ไม่พิจารณา ปลาก็ลอดลงน้ำไป สามีไม่รู่ช้อนได้หลงใส่กระเชอไปเรื่อย ๆ
ปลาก็ลอดไปหมดไม่เหลือ ระหว่างนั้นมีภรรยานายสำเภา
เป็นหญิงดีมีสิรินั่งอยู่ท้ายเรือ เห็นปลาลอดลงน้ำก็ยิ้ม นายสำเภาเป็นกาลกิณี
เห็นนางดูนายพรานแล้วยิ้มเข้าใจว่านางพอใจ พรานก็โกรธ จะให้นางไปเป็นเมียพราน
ในที่สุดนายสำเภากับนายพรานก็ตกลงแลกเมียกัน เมียนายพรานมาอยู่กับนายสำเภา
ทำให้พรานเจริญขึ้นเป็นเสนาบดีของพระเจ้าแผ่นดิน แล้วต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาแผ่นดิน
นั่นคือใครที่ทำอะไรเผลอเรอเลินเล่อทำอะไรไม่รอบคอบก็พูดกันว่า “เผลอเรอกระเชอก้นรั่ว”
4. ม้าดีดกระโหลก
ความหมาย กิริยาท่าทางผลุบผลับกระโดกกระเดกลุกลน
ความเป็นมา คนที่มีกิริยาท่าทางผลุบผลับกระโดกกระเดกลุกลน
มักใช้ว่าผู้หญิงที่ไม่เรียบร้อย จะลุกจะนั่งหรือเดินพรวดพราดเตะนั่นโดดนี่กระทบโน่นไปรอบข้างที่พูดว่า
“ดีดกะโหลก” ฟังดูเป็น “ม้าดีดกะลา” แต่ความจริงเปรียบเหมือนกิริยาของม้า
คือม้าที่พยศมักจะมีกิริยาที่เรียกว่า ดีด กับ โขก อยู่ด้วยกัน
ตัวอย่าง
“เหมือนม้าดีขี่ขับสำหรับรบ ทั้งดีดขบโขกกัดสะบัดย่าง”
กลอนพระอภัยมณี
5. หัวราน้ำ
ความหมาย เมาเต็มที่
ความเป็นมา สมัยก่อนไทยเรามีการคมนาคมทางน้ำเป็นสำคัญใช้เรือ
เป็นพาหนะทั้งในธุรกิจติดต่อค้าขาย ตลอดจนการเล่นรื่นเริงต่าง ๆ ในการเล่น
ตัวอย่าง แข่งเรือ คนในเรือมักจะกินเหล้าเมามายกันเต็มที่แรงตัวไม่อยู่
หัวลงไปราอยู่กับพื้นน้ำ จึงเกิดเป็นสำนวนขึ้นมา
สำนวนไทยเกิดจาก แบบแผนประเพณี
1. นอกรีด
ความหมาย ประพฤติผิดไปจากแบบแผนขนมธรรมเนียมประเพณี
ตัวอย่าง
“ขอโทษโปรดเถิดพระมุนี อะไรนี่นอกรีดมากีดขวาง
ผัวท่านจะคลึงเคล้าเข้าหยกนาง ห้องกลางเปล่าอยู่นิมนต์ไป”
คาวีพระราชานิพนธ์รัช
2. แย่งกันเป็นศพมอญ
ความหมาย แย่งชิงสิ่งของกันชุลมุนวุ่นวาย
ความเป็นมา มูลของสำนวนนี้มาจากประเพณีทำศพของมอญมีปรากฏในเรื่องราชาธิราชว่า
พระเจ้าหงสาวดีมหาปิฎกธร ทำศพพระราชมารดาเลี้ยง เช่น ของใช้ขอทานของแจงตลอดจน
ฟ้องร้องชิงมรดกกันยุ้งเหยิง จึงพูดกันเป็นสำนวนว่า “แย่งกันเป็นศพมอญ”
3. ลงขัน
ความหมาย ช่วยกันออกค่าใช้จ่าย
ความเป็นมา ลงขันเป็นประเพณีให้ของขวัญแบบโบราณ เช่น
ในงานโกนจุกมีการเอาขันเชิงมาตั้งสำหรับญาติพี่น้อง
แขกที่ไปร่วมงานเอาเงินหรือสิ่งของเครื่องรูปพรรณใส่ลงขัน เป็นการทำขวัญเด็กโกนจุก
เรียกว่า ลงขัน ในประกาศรัชกาลที่5 เรื่องสมโภชรับพระสุพรรณบัฏ
4. ร้องเพลงในครัวได้ผัวแก่
ความเป็นมา ตามแบบธรรมเนียมไทยโบราณ หญิงสาวต้องเข้าครัวฝึกหัดหุงข้าวต้มแกง
อาหารต่าง ๆ ให้เป็นเวลาเข้าครัวเป็นเวลาทำงาน ใครร้องเพลงในครัวจึงมีคำผู้ใหญ่ว่า
“ร้องเพลงในครัวได้ผัวแก่” เวลาเข้าครัวจะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน
ไม่ร้องเพลงเล่น
สำนวนไทยเกิดจากความประพฤติ
1. ข้าวแดงแกงร้อน
ข้าวแดงเป็นข้าวที่สีด้วยมือ
ไม่ขัดจนเป็นสีขาว เพราะในสมัยโบราณยังไม่มีดรงสี คนทั่วไปจึงกินข้าวแดงกัน
ถ้าจะกินข้าวขาว คือข้าวที่ขัดจนขาว แต่เฉพาะคนชั้นสูงที่อยู่ในวัง และบ้านที่ใหญ่
ๆ โต ๆ ข้าวแดงแกงร้อนหมายถึง บุญคุณ
คือเมื่อกินข้าวของผู้ใดก็ต้องคิดถึงบุญคุณของผู้นั้น
ตัวอย่าง
“อนึ่งนายมีคุณอันสุนทร เพราะข้าวแดงแกงร้อนได้กินมา”
ทุคคตะสอนบุตร
2. นกสองหัว
คนกลับกลอกโลเล
ทำตนเข้าด้วยทั้งสองฝ่าย ไม่มีอุดมคติมั่นคง เหตุที่เอานกมาเปรียบก็เพราะว่า
สมัยก่อนเคยเรียกหญิงงามเมือง (นครโสเภณี) หรือหญิงที่หากินอย่างนี้ว่า นก
เมื่อพูดว่า นก ก็เป็นอันว่ารู้กัน
ตัวอย่าง
“เหม่อ้ายเชียงทองจองหองเอา ลงไปเข้ากับไทยช่างไม่กลัว
แต่ก่อนนั้นมันขึ้นแก่เรานี้ ถือดีหยิ่งยกนกสองหัว”
เสภาขุนช้างขุนแผน
3. บอกยี่ห้อ
แสดงท่าทีหรือคำพูดให้รู้ว่ามีลักษณะหรือนิสัยสันดานอย่างไร
เช่น แต่งตัวบอกยี่ห้อนักเลง หมายความว่าแต่งตัวแสดงว่าเป็นนักเลง
4. ผ้าพับไว้
กิริยามารยาทเรียบร้อย สำนวนนี้เอาผ้าที่พับเรียบร้อยมาเปรียบ
มักใช้กับผู้หญิง
. ผักชีโรยหน้า
40 ทำอะไรแต่เพียงเล็กน้อยเป็นการฉาบหน้าเพื่อจะลวงให้เห็นว่า
ทุกสิ่งทุกอย่าง เรียบร้อยสมบูรณ์ หรือทำเพียงผิวเผินฉาบหน้าชั่วคราวให้เห็นว่าดี
สำนวนนี้มักพูดในทางที่ไม่ดี แต่ลางทีใช้ในทางดีก็ได้
ตัวอย่างเช่น ในนิราศภูเขา ทองรำพัน ของสุนทรภู่
“ใช่จะมีที่รักสมัคมาด แรมนิราศสร้างมิตรพิสมัย
ซึ่งครวญคร่ำทำทีพิรี้พิไร ตามนิสัยกาพย์กลอนแต่ก่อนมา
เหมือนแม่ครัวคั่วแกงพะแนงผัด สารพัดพยัญชนังเครื่องมังสา
อันพริกไทยใบผักชีเหมือนสีกา ต้องโรยหน้าเสียสักหน่อยอร่อยใจ”
สำนวนไทยเกิดจากการละเล่น
1. เป็นปี่เป็นขลุ่ย
พูดหรือทำอะไรถูกคอกัน
กลมเกลียวไปด้วยกันอย่างดี มูลของสำนวนมาจากการเล่นปี่พาทย์ในวงปี่พาทย์คนเป่าปี่เป็นคนนำเครื่องอื่นตามกลมกลืนกัน
ใครพูดหรือหรือทำอะไรนำขึ้น คนอื่น ๆ ตาม จะพูดว่า เป็นปี่เป็นขลุ่ย
ตัวอย่าง
“จะอุตสาห์ปาตะปารักษากิจ
อวยอุทิศผลผลาถึงยาหยี
จะเกิดไหนในจังหวัดปักพี ให้เหมือนปี่กับขลุ่ยต้องทำนองกัน”
นิราศอิเหนาของสุนทรภู่
2. รำไม่ดีโทษปี่พาทย์
ตัวเองทำไม่ดี
ทำไม่ถูกหรือทำผิดแล้วไม่รู้ หรือไม่ยอมรับว่าตัวผิด กลับไปซัดไปโทษเอาคนอื่น
มูลของสำนวนมาจากการฟ้อนรำ ทำท่าที่มีการบรรเลงปี่พาทย์ประกอบ ปี่พาทย์เป็นหลักของการรำลีลาท่ารำ
ต้องให้เข้ากับกระบวนปี่พาทย์
ผู้รำชำนาญก็รำเข้าปี่พาทย์ได้งามถ้าไม่ชำนาญก็ผิดจังหวะพลัดพลาดไปไม่งาม สำนวน
รำไม่ดีโทษปี่พาทย์ หมายความว่า ตนรำไม่ดีแล้วไปโทษปี่พาทย์ว่าทำเพลงผิด
ตัวอย่าง ท่าละครมีกลอนว่า
“แม้ชำนาญการฝึกรู้สึกลับ บทสำหรับท่าทีที่แอบแฝง
ย่อมเจนจัดคัดลอกออกสำแดง แม้นจะแกล้งทำบ้างก็ยังดี
หากว่าไม่เชี่ยวชาญการฝึกหัด ถึงจะดัดตามต้อยสักร้อยสี
ไม่นิ่มนวลยวลยลกลวิธี
อาจโทษพาทย์กลองรับร้องรำ”
3. ออกโรง
ออกแสดงการละเล่นมหรสพ
คำว่าโรงหมายถึง โรงโขนโรงละคร โรงหนัง
สำนวนนี้ใช้ในหารมหรสพแม้จะไม่เป็นโรงแต่เป็นการเล่นมหรสพอะไรก็ใช้ได้
บางครั้งใช้กับผู้ที่ออกทำงานด้วยตนเองทั้ง ๆ ที่ตนไม่ต้องทำ แต่ก็ออกทำเองก็ได้
ตัวอย่าง
“ทั้งรูปร่างจริตติดโอ่โถง เคยเล่นนอกออกโรงมาหลายหน
ขับรำทำได้ตามจน ดีจริงยิ่งคนที่มาเอย”
อิเหนา
พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2
4. นักเลงอดเพลงไม่ได้
มีนิสัยชอบแล้วอดไม่ได้
มูลของสำนวนน่าจะมาจากการเล่นเพลง นักเลง หมายถึงนักเล่น
เมื่อเป็นนักเล่นแล้วเห็นคนอื่นเล่นเพลงกันก็อดที่จะเข้าร่วมวงไม่ได้
ต่อมาใช้กว้างออกไป หมายถึงอะไรก็ได้เมื่อชอบแล้วก็อดที่จะประพฤติไม่ได้
5. โบแดง
การแสดงออกที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถให้เป็นที่ยกย่อง
มูลของสำนวนมาจากการเล่นเครื่องโต๊ะจีนในสมันรัชกาลที่ 4 คือ
มีการประกวดตั้งโต๊ะจีน โต๊ะของผู้ใดมีเครื่องโต๊ะ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้ชำนาญเครื่องโต๊ะก็เอา
แพรแดง ผูกทำขวัญชิ้นนั้น เครื่องโต๊ะจีนชิ้นใดได้แพรแดงก็แสดงว่าเป็นของดี
ต่อมาเอาแพรมาทำเป็นโบแดง โบแดงกลายเป็นสำนวนใช้บอกถึงความสามารถดีเด่น
ใครทำอะไรที่ดีเด่นก็จะเป็นที่ยกย่องนับถือ
สำนวนที่เกิดขึ้นใหม่
-
เกิดจากวงการสื่อมวลชน
เช่น
ไฟเขียว หมายความว่า อนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินการได้
กระแส หมายความว่า
กำลังเป็นที่สนใจ หรือนิยมมาก
สื่อเสี้ยม
หมายความว่า สื่อนำเสนอข่าวแนวยุยงให้ทะเลาะ ขัดแย้งกัน
ตัวละคร
หมายความว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ฆ่าตัดตอน
หมายความว่า
ฆ่าเพื่อไม่ให้ซัดทอดความผิดมาถึงตน
ปล่อยเกียร์ว่าง
หมายความว่า ไม่ทำหน้าที่ที่ควรจะทำ
-
เกิดจากวงการเมือง
เช่น
ขิงแก่ หมายความว่า ผู้อาวุโสที่มีความสามารถ มีประสบการณ์
รากหญ้า หมายความว่า
คนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยากจน ด้อยโอกาสในสังคม
งูเห่า หมายความว่า ผู้ที่เลี้ยงไม่เชื่อง
คืนหมาหอน
หมายความว่า คืนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง
รัฐมนตรีเงา
หมายความว่า
บุคคลที่นักการเมืองฝ่ายค้านตั้งขึ้นมาเลียนแบบตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง
-
เกิดจากวงการโฆษณา
ภาษาดอกไม้ หมายความว่า คำพูดที่ไพเราะน่าฟัง
มีระดับ หมายความว่า คุณภาพดี มีมาตรฐานสูง
ซ่าจนหยดสุดท้าย
หมายความว่า ซ่ามาก
-
เกิดจากวงการบันเทิง
นางเอกร้อยเล่มเกวียน
หมายความว่า มารยามาก
เด็กปั้น
หมายความว่า
ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ใหญ่
แบ๊วตีนปลาย หมายความว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมต่างไปจากเดิม
เบนโล หมายความว่า ตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน
ขโมยซีน แย่งการเป็นข่าวจากผู้ที่ควรเป็นข่าว
-
สำนวนที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ
แกะดำ “Black sheep” คนชั่วในกลุ่มคนดี
สร้างวิมานในอากาศ
“Build castles in the air” ฝันในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
-
สำนวนที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวัน
นิตยสาร
หักดิบ หมายความว่า เปลี่ยนแปลงในทันที
วัยใส หมายความว่า วัยรุ่น
-
สำนวนดัดแปลง
กิ้งก่าฟาดหาง หมายความว่า
อาการทำร้ายฝ่ายตรงข้าม
นักกินเมือง หมายความว่า
นักการเมืองที่เอาประโยชน์เข้าตนเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น