วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

สุภาษิต



ความหมายของสุภาษิต
                สุภาษิต คือ คำกล่าวที่ดีงามมีความหมายลึกซึ่ง เป็นคติสอนใจ อ่านแล้วเข้าใจง่ายโดยไม่ต้องแปลความหมาย
                สุภาษิต คือ คำที่กล่าวตามศัพท์แล้วมีความหมายเป็นกลางๆ ใช้ทั้งทางดีและทางชั่วแต่โดยความหมายแล้วประสงค์คำกล่าวที่เป็นคติ
                สุภาษิต หมายถึง คำพูดที่พูดออกมา ไม่ว่าจะเป็นทำนองสำนวนโวหาร หรือคำพังเพย แต่มีเนื้อความหรือความหมายที่ดี เป็นคำตักเตือนสั่งสอน และสะกิดใจให้ระลึกถึงอยู่เสมอ
                สุภาษิต คือ สำนวนโวหารที่แสดงถึงความคิดสูง และสืบทอดมาแต่โบราณ แสดงถึง ความเจริญของวัฒนธรรมทางด้านภาษา ซึ่งแต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่น และแต่ละชุมชน กระทั่ง แต่ละเหล่าอาชีพก็มีสำนวนของใครของมันคล้ายกันบ้าง แตกต่างกันไปบ้าง ทั้งนี้เพราะที่มาไม่ เหมือนกันแต่โดยความหมายมักเทียบเคียงกันได้ แม้แต่ภาษาต่างวัฒนธรรมก็ยังมีส่วนคล้ายกัน ในทางอุปมา
                สุภาษิต แปลว่า 9ถ้อยคำที่ดี หมายถึงคำสอนเตือนสติเป็นวาโทบาย เป็นอุบายแห่งการใช้คำอย่างหนึ่ง การใช้สุภาษิตประกอบคำพูดหรือบทความเป็นศิลปสำคัญในการสื่อความหมาย เพราะจะทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านเข้าในเนื้อหามากยิ่งขึ้น สุภาษิตตรงกับสุภาษิตว่า Proverb มุ่งสอนให้ทำหรือสอนให้เว้น หรือสอนโดยชี้ให้เห็นความจริง ให้พิจารณาเห็นเองได้
                สุภาษิตต่าง ๆ คือ
แนวทางเตือนใจช่วยแนะทางเดินที่ถูกที่ควรในชีวิตให้ดำเนินไปได้ทุกทาง
เตือน ในการงานอาชีพที่ถูกที่ควร
เตือน ใจและเตือนชีวิตให้ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง
เตือน ในการคบมิตร เลือกคู่ครอง
เตือน และแนะคุณประโยชน์นานาประการแด่ทุกท่าน
                สุภาษิต คือ 10คำกล่าวที่ดีงามเป็นจริงทุกกาลเวลาหรือเป็นอมตวาจา ใช้ในการอบรมสั่งสอน ชี้แนะแนวทางแห่งชีวิต ให้ข้อคิดเตือนใจแก่ผู้ฟังและผู้ใช้
ภาษิตเป็นคำกล่าวสรุปความที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังแม้เป็นคำกล่าวที่ไม่ดี แต่เป็นประโยชน์เป็นการชี้นำ แนะแนวสั่งสอน ตักเตือน ให้ข้อคิดเป็นข้อมูลที่ให้ประโยชน์
ที่มาของสุภาษิต
1. ได้มาจากคำกล่าวธรรมดา ๆ เช่น โตเพราะกินข้าว เฒ่าเพราะเกิดนาน ,ปูนอย่าให้ขาดเต้า ข้าวอย่าให้ขาดโอ่ง ด่วนนักมักสะดุด
2. ได้มาจากคำอุปมาอุปไมย เช่น ขี้ใหม่หมาหอม ,หมาเห่าใบตองแห้ง
3. ได้มาจากนิทาน เช่น
- กระต่ายตื่นตูม มาจากนิทานอีสป
- เถรตรง มาจากนิทานพื้นบ้านภาคกลาง
- องุ่นเปรี้ยว มาจากนิทานการปรับตัวในวิชาจิตวิทยา
4. ได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ,ไก่แก่แม่ปลาช่อน ,วัวแก่กินหญ้าอ่อน แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ
5. ได้จากประสบการในชีวิต เช่นใกล้เกลือกินด่างก้นหม้อยังไม่ทันดำ ,ดับไฟแต่ต้นลม , ขว้างงูไม่พ้นคอ
6. ได้จากการละเล่นต่าง ๆ เช่น กัดไม่ปล่อย
7. นำภาษิตเก่ามาแปลงใหม่ ลักษณะนี้เป็นลักษณะที่เป็นธรรมชาติของคนที่ชอบเปลี่ยนแปลง บางครั้งต้องการให้เกิดความขำขันในอารมณ์ บางครั้งต้องการล้อเลียนและทดลองไหวพริบกัน จึงมีคำกล่าวที่แปลก ๆ ประหลาด ๆ ให้สนุก ๆ กัน เช่น
- ตกถังข้าวสาร พูดเสียใหม่ว่า แก้ผ้าเข้าบ้าน หมายถึงว่า เจอเนื้อคู่ หรือคู่สมรสที่ร่ำรวย ไม่ต้องมีอะไรติดตัวก็ได้ ไปแต่ตัวพอแล้ว
- สี่ตีนย่อมพลาด นักปราชญ์ย่อมพลั้ง เปลี่ยนใหม่ว่า สี่ตีนย่อมช้าง หมายถึงว่า มั่นคงดี
ความสำคัญของสุภาษิต
สุภาษิตต่าง ๆ เป็นสิ่งเตือนใจ มนุษย์ย่อมมีความเหลวไหล มีความเสื่อมถอยจากความเป็นมนุษย์ แสดงว่าสุภาษิต คำเตือนใจและคำสั่งสอนในรูปแบบต่างๆ ยังมีประโยชน์อยู่ในการใช้อบรมสั่งสอนมนุษย์ให้มีสติ บางคนกิเลสน้อยก็อาจละเว้นความชั่วลง หรืออาจทำผิดไปบ้าง เพราะไม่สามารถต้านทานความรู้สึกได้ ก็ยังรู้สึกตนยับยั้งชั่งใจไม่ประพฤติผิดซ้ำๆ เพราะน้อยคนนักที่จะชั่วโดยสันดาน ทำผิดทำบาปแล้วไม่รู้ว่าตนเองกระทำอะไรลงไป
ดังนั้นสุภาษิต จึงเป็นเครื่องจรรโลงคุณงามความดี ให้ดำรงคงอยู่ ให้มนุษย์ประพฤติปฏิบัติตัวเป็นคนดี สุภาษิตอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน สมควรจะรักษาให้อยู่คู่กับคนไทยตลอดไป
ลักษณะของสุภาษิต
1. มีความคล้องจองและสัมผัสกัน
2. คำง่าย สั้น กะทัดรัด
3. ความสั้นแต่กระชับกินใจ
ชนิดของสุภาษิต
คำกล่าวที่เป็นคำสอนให้แง่คิด ชี้แนะแนวทางนั้น แบ่งตามลักษณะรูปแบบได้ดังนี้
1. ภาษิตแท้ มักจะกล่าวเป็นประโยค จบในตัวสั้น เปลี่ยนรูป ในแต่ภายจะคล้ายๆ กัน เช่น
รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา
ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่
2. คำกล่าวชาวบ้าน เช่น
จุดไต้ตำตอ
น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย

3. อุปมาอุปไมย ส่วนมากจะพบในวรรณคดี
ดำเหมือนตอตะโก
ขาวเหมือนสำลี
4. คำอ้าง ลักษณะของคำอ้างมักแสดงอาการประเภทเร่งรีบ
       ขวานผ่าซาก
การจัดประเภทของสุภาษิต
เมื่อเก็บข้อมูลมาได้แล้ว มักจะนิยมจักกันดังนี้ คือ
1. จัดตามลำดับพยัญชนะ
2. จัดตามประเภท
     ในการปฏิบัติจริงอาจจะใช้อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ ดังนั้นควรจะนำทั้ง 2 ประเภทมารวมกัน เช่นแยกประเภทเรื่องแมว แล้วนำมาแยกตามพยัญชนะอีกครั้งหนึ่งก็ได้ หรืออาจจะแบ่งตามเนื้อหา ตามมูลเหตุ ตามหมวดหมู่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลเก็บมาได้
ตัวอย่างการแบ่งหมวด
หมวดที่ 1 ว่าด้วยครอบครัว
พ่อแม่คือพระของลูก                                         ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น
เป็นลูกผู้หญิงต้องมีความอาย                           ช้างสารงูเง่า ข้าเก่าเมียรัก
ชายเข้าเปลือก หญิงข้าวสาร
หมวดที่ 2 การศึกษาอบรม
เมื่อน้อยให้เรียนวิชา                                          อย่าชิงสุกก่อนห่าม
ความรู่ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด                             สิบรู้ไม่เท่าชำนาญ


หมวดที่ 3 ความรักและการครองเรือน
เลือกสู่สม                                                             คู่แล้วไม่แคล้วกันเลย
ผัวเป็นช้างเท้าหน้า                                             เมียเป็นช้างเท้าหลัง
หมวดที่ 4 การทำมาหากิน
เกิดเป็นคนต้องพึ่งตัวเอง                                   ปัญญาเป็นทรัพย์
อย่าเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน
หมวดที่ 5 ว่าด้วยเศรษฐกิจและการครองชีพ
เสียกำเอากอบ                                                      เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย
มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท
หมวดที่ 6 ว่าด้วยตน
อย่าลืมตัวเหมือนวัวลืมตีน                                                อย่าตีตนไปก่อนไข้
อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ
หมวดที่ 7 สังคม สมาคม
คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ                               น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก
จงเอาใจเขามาใส่ใจเรา
หมวดที่ 8 ว่าด้วยวาจา
พูดดีเป็นศรีแก่ตัว                                พูดชั่วอัปราชัย
พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง

หมวดที่ 9 ว่าด้วยเกียรติยศชื่อเสียง
เสียชีพอย่าเสียสัตว์                             ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ   
หมวดที่ 10 ว่าด้วยการปกครอง
อย่ายื่นแก้วให้วานร                            สมภารไม่ดีหลวงชีสกปรก
จับให้มั่นคั่นให้ตาย
หมวดที่ 11 ว่าด้วยศีลธรรม-วัฒนธรรม
สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง                                 ความตายเป็นของไม่เที่ยง
หมวดที่ 12 ว่าด้วยบ้านเกิดเมืองนอน
จงรักบ้านเกิดเมืองนอน                    อย่าฉ้อราษฎร์บางหลวง
อย่าสาวไส้ให้กากิน
หมวดที่ 13 ว่าด้วยกรรม
หว่านพืชอย่างใดได้ผลอย่านั้น        จงทำดี อย่าทำชั่ว
หมวดที่ 14 ว่าด้วยความไม่ประมาท
กันดีกว่าแก้                                           อย่าจับงูข้างหาง
แกงจืดจึงรู้คุณเกลือ
หมวดที่ 15 สุภาษิตส่วนรวม
ตาบอดสอดตาเห็น                              จระเข้ขวางคลอง
มากหมอมากความ                             ของหายตะพายบาป
หนามยอกเอาหนามบ่ง                     หวานเป็นลมข่มเป็นยา
เกลือจิ้มเกลือ
ประเภทของสุภาษิต
สุภาษิตมีอยู่ 2 ประเภท
1. คำสุภาษิตประเภทที่ พูด อ่าน หรือเข้าใจเนื้อความได้ทันที โดยไม่ต้องแปลความหมาย ตีความหมาย เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
2. คำสุภาษิตประเภทที่ พูด อ่าน หรือฟังแล้วยังไม่เข้าใจเนื้อความนั้นในทันที ต้องนึกตรึกตรอง ต้องแปลความ ตีความหมายเสียก่อนจึงจะทราบเนื้อหาที่แท้จริงของคำเหล่านั้น เช่น ผีบ้านไม่ดีผีป่าก็พลอย
ตัวอย่างสุภาษิตที่พูด อ่าน หรือเข้าใจเนื้อความได้ทันที
1. กระดี่ได้น้ำ ความหมาย ตื่นเต้นดีใจจนตัวสั่น
ตัวอย่าง ทันทีที่สามีทราบว่าภริยา จะต้องไปสัมมนาที่ต่างประเทศ เป็นเวลา หนึ่ง เดือน สามีก็ดีอกดีใจจนออกนอกหน้า เปรียบเสมือนปลากระดี่ได้น้ำประมาณนั้น
2. แกว่งเท้าหาเสี้ยน
ความหมาย รนหาเรื่องเดือดร้อน
ตัวอย่าง สมชายเดินไปตลาดไปพบกับคนที่ทะเลาะกันเลยต่อว่า ว่าเด็กอะไรไม่ทำงานทำการมัวแต่มาทะเลาะกัน สมชายเลยโดนชก  
3. จับปลาสองมือ
ความหมาย อย่าหวังจะได้ทีเดียวพร้อม ๆ กันสองอย่าง เพราะในที่สุดก็จะพลาด ไม่ได้สักอย่าง
ตัวอย่าง สุชาดาตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกประชาหรือเอกชัยเป็นคู่ครอง จนมารดาต้องเตือนว่า อย่าจับปลาสองมือ ชาวบ้านเขาจะนินทาได้
4. จับปูใส่กระด้ง
ความหมาย ซุกซนไม่อยู่ในระเบียบ ตัวอย่างเช่น ตัวอย่าง การดูแลเด็กให้อยู่ในลู่ในทางที่ดี เป็นเรื่องยากยิ่งกว่า จับปูใส่กระด้ง
5. ชักแม่น้ำทั้งห้า
ความหมาย พูดจาหว่านล้อม อ้างโน่นอ้างนี่ เพื่อให้คล้อยตาม
ตัวอย่าง ทันทีที่สามีกลับถึงบ้านเวลา 02.00 นาฬิกา เขาก็เริ่มชักแม่น้ำทั้งห้า ทั้งปิง วัง ยม น่าน และเจ้าพระยา บางทีเพิ่ม ป่าสัก เข้าไปเป็น 6 แม่น้ำก็ยังหาอะไรน่าเชื่อไม่ได้สักอย่าง
6. ปั้นน้ำเป็นตัว
ความหมาย แต่งเรื่องขึ้นมาโดยไม่มีมูลความจริง ตัวอย่าง เขามักจะปั้นน้ำเป็นตัวว่า รถมันติด
ตัวอย่าง สุภาษิต ที่ พูด อ่าน หรือฟังแล้วยังไม่เข้าใจ
เนื้อความนั้นในทันที ต้องนึกตรึกตรอง ต้องแปลความ ต้องตีความหมายเสียก่อนจึงจะทราบเนื้อหาที่แท้จริงของคำเหล่านั้น
1.กระต่ายขาเดียว ความหมาย อาการยืนยันไม่ยอมรับ
ตัวอย่าง แม้ภริยาจะจับได้คาหนังคาเขาว่า สามีเช้าบ้านให้เลขาหน้าห้อง สามีก็ยังยืนยันกระต่ายขาเดียวว่า บ้านดังกล่าว เช่าไว้เพื่อใช้ประชุมงานด่วนกันสอง คนเท่านั้นเอง ทำไมต้องคิดมาก
2. ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่
ความหมาย ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับซึ่งกันและกัน
3. ข้าวใหม่ปลามัน
ความหมาย อะไรที่เป็นของใหม่ก็ถือดี หรือนิยมเรียกช่วงที่สามีภรรยา เพิ่งแต่งงานกันใหม่ ๆ ว่า "ข้าวใหม่ปลามัน"
4.ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าตรุษ   
ความหมาย ซื้อของไม่คำนึงถึงกาเวลา ของที่ถูกก็ต้อง ซื้อแพง , ทำอะไรไม่เหมาะกับกาลเวลา
5. ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก
ความหมาย ดีแต่พูด ทำจริง ๆ ไม่ได้
6. หมากัดอย่ากัดตอบ
ความหมาย ถ้าคนพาลมาหรือทำร้าย ก็ไม่ควรโต้ตอบกลับ
ตัวอย่าง คุณไม่ต้องไปสนใจ ปล่อยให้เขาเอะอะวาวายด่าว่าไปตามอารมณ์ พอเหนื่อยเขาก็จะหยุดไปเอง ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปต่อคำด้วย หมากัดอย่ากัดตอบ
คำอธิบาย คำสอนใจ หมากัดอย่ากัดตอบ เปรียบหมากับคนพาล คนไม้ดี ถ้าประเภทนี้มาหาเรื่องกับเรา เราไม่ควรจะไปเอาเรื่องด้วย คำสอนใจนี้สอนให้เราไม่เอาเรื่องกับคนพาล
สุภาษิตจำแนกได้หลายลักษณะแล้วแต่เหตุผลและการจัด
1. เกี่ยวกับข้อห้าม และธรรมเนียมต่าง ๆ
2. เกี่ยวกับประวัติพงศาวดาร
3. เกี่ยวกับรูปร่างและลักษณะ
4. เกี่ยวกับการรักษาตัว
5. เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ
6. เกี่ยวกับการทำนายทายทัก
การวางรูปแบบของสุภาษิต
1. การสัมผัสสระ
- รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ                              - คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ
2. ประเภทสัมผัสพยัญชนะ
- ยิ่งจนก็ยิ่งจัน ยิ่งสั้นก็ยิ่งลึก                            - รักสนุก ทุกข์ถนัด
3. ข้อความขนานกัน หรือตรงกันข้าม
- เขียนด้วยมือลบด้วยตีน                   - รักวัวให้ผู้รักลูกให้ตี
4. ประเภทเล่นสัมผัสจังหวะ คล้ายร้อยกรอง
- น้ำร้อนปลาเป็นน้ำเย็นปลาตาย     - น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา
5. ประเภทบุคลาธิษฐาน
- แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร                                             - บ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแปร
- ปากคนยาวกว่าปากกา
ประโยชน์จากสุภาษิต
ภาษิตคือ คำพูดที่กล่าวแล้วดีงาม ฉะนั้นบางครั้งจึงใช้ว่า สุภาษิต ภาษิตให้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต
1. ภาษิตช่วยอบรมสั่งสอนลูกหลาน หรือเยาว์ชนให้เป็นคนดี จากคำพูด คำกล่าวที่พูดต่อกันมา เช่น ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้
2. ภาษิตช่วยให้สติแก่ชีวิต เช่นกบเลือกนาย
3. ภาษิตให้ความรู้ด้านภาษา เพราะภาษาที่ใช้เป็นภาษิต เป็นคำที่กล่าวอย่างไพเราะ สละสลวย ความกระชับ แต่กินใจอย่ากว้างขวาง  เช่น อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย
ตัวอย่างสุภาษิตแต่ละภาค
ภาษิตทางภาคเหนือ
กำกิ๊ดบดี ขายสะลีนอนสาด                              กำกิ๊ดสลาด ขายสาดนอนสะลี
ความหมาย
ความคิดไม่ดี ขายสำลีนอนเสื่อ                        ความคิดฉลาด ขายสาดนอนสำลี
ภาษิตทางภาคใต้
ยิ่งหยุดยิ่งไกล ยิ่งไปยิ่งแค่
ความหมาย ในการเดินทางถ้าเดินๆ หยุด ๆ หนทางก็ยังไกล แต่ถ้ารีบเดินเท่าไร ก็จะใกล้ เท่านั้น (แค่ คือ ใกล้)
ภาษิตทางภาคกลาง
รักดีห่ามจั่ว รักชั่วห่ามเสา                                 ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่
สุภาษิตสอนหญิงสุนทรภู่
เป็นสาวเป็นแส้แร่รวยสวยสะอาด             ก็หมายมาดเหมือนมณีอันมีค่า
แม้นแตกร้าวรานร่อยถอยราคา                    จะพลอยพาหอมหายจากกายนาง
ประการหนึ่งซึ่งจะเดินดำเนินนาด              ค่อยเยื้องยาตรยกย่องไปกลางสนาม
อย่าไกวแขนสุดแขนเขาห้ามปราม                  เสงี่ยมงามสงวนไว้แต่ในที
อย่าเดินกรายย้ายยอกยกผ้าห่ม                          อย่าเสยผมกลางทางหว่างวิถี
อย่าพูดเพ่อเจ้อไปไม่สู้ดี                                     เหย้าเรือนมีกลับมาจึ่งหารือ
จงรักนวลสงวนนามห้ามใจไว้                     อย่าหลงใหลจำคำที่ร่ำสอน
คิดถึงหน้าบิดาและมารดร                                 อย่ารีบร้อนเร็วนักมักไม่ดี
เมื่อสุกงอมหอมหวนจึงควรหล่น                    อยู่กับต้นอย่าให้พรากไปจากที่
อย่าชิงสุกก่อนห่ามไม่งามดี                             เมื่อบุญมีคงจะมาอย่าปรารมภ์
มีสลึงพึงประจบให้ครบบาท                         อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จึงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง                           อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน
ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ                                 ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน
เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าชรากาล                  จงเลี้ยงท่านอย่าให้อดระทดใจ
ด้วยชนกชนนีนั้นมีคุณ                                      ได้การุณเลี้ยงรักษามาจนใหญ่
อุ้มอุทรป้อนข้าวมาเท่าไร                  หมายจะได้พึ่งพาธิดาดวง…

สุภาษิต สุนทรภู่
จะผูกด้วยมนต์เสกเลขลงยันต์
ไม่เหมือน พันผูกไว้ด้วยไมตรี
อันรักกันอยู่ไกลถึงขอบฟ้า
เหมือนชายคาเข้ามาเบียดดูเสียดสี
อันชังกันนั้นอยู่ใกล้สักองคุลี
ก็เหมือนมีแนวป่าเข้ามาบัง
อย่ารักทองกาไหล่หนากว่าสุวรรณ
เห็นกำนั้นดีกว่ากอบไม่ชอบกล
อย่าโทษญาติกากายสหายรัก
โทษบุญกรรมนำชักให้ชั่วดี
สุภาษิตพระร่วง
- เอาแต่ชอบเสียผิด คือทำแต่ความดี ละทิ้งความชั่ว
- เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า คือ เข้าป่าอย่าลืมมีดใช้เป็นอาวุธป้องกันอันตราย
- ที่รักอย่าดูถูก คือ อย่าเห็นว่าผู้ที่เป็นที่รักไม่สำคัญควรถนอมน้ำใจกัน
- อย่าโดยคำคนพลอด คือ อย่าเห็นดีงามตามคนช่างพูดเอาใจ
- อย่าเข็ญเรือทอดกลางถนน คือ อย่าทำอะไรผิดเทศะ
- ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก คือ ไปที่ลำบากให้ระวังรักษาของใช้
- รักตนกว่ารักทรัพย์ คือ รักเกียรติยศ
- สุวานขบอย่าขบตอบ คือ คนไม่ดีมาทำร้ายอย่าลดตัวไปตอบโต้
สุภาษิตเกี่ยวกับ ชีวิต คน ค่าของคน
ถ้าท่านทำตัวแข่งกับสังคม ความพินาศล่มจมจะตามมา
ถ้าท่านทำงานเห็นแก่หน้า ท่านจะพบปัญหาเรื่อยไป
ถ้าท่านทำตัวเห็นแก่ได้ อย่าหวังน้ำใจจากเพื่อนฝูง
ถ้าท่านกลัวจนเกินไป ท่านทำอะไรไม่ได้ความ
ถ้าท่านกล้าเกินงาม ท่านจะพบแต่ความเดือดร้อน
ถ้าท่านขาดความพอดี ท่านจะไม่ความสุข
ถ้าท่านเห็นแก่ความสนุก ท่านจะทุกข์อย่างมหาศาล
ถ้าท่านขาดความยังคิด ทั้งชีวิตจะสิ้นความหมาย
ถ้าท่านทำใจให้สงบ ท่านจะพบชีวิตที่เยือกเย็น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น